—วัดคอนสวรรค์ สถานที่พำนักในบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่สุภา กันตสีโล—

 

ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๐ หมู่ที่ ๑ บ้านค้อเขียว ตำบลค้อเขียว อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร แต่เดิมเป็นวัดร้างสร้างมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏ เพราะไม่เหลือสิ่งก่อสร้างใดๆให้เห็นยกเว้น สิม(พระอุโบสถ) เท่านั้น เมื่อปี ๒๔๗๑ หลวงพ่อนู ได้ชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันปรับปรุง ในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีสิม(พระอุโบสถ) อยู่หลังหนึ่งทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และชาวบ้านในยุคต่อๆมาก้ได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์จนก่อตั้งเป็นวัดอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาในปี ๒๕๓๕ พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กันตฺสีโล) ได้เข้ามาอุปถัมป์ด้วยการบูรณะและก่อสร้างเสนาสนะต่างๆเพิ่มเติม จนรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน

 

เนื้อที่ทั้งหมดของวัดในปัจจุบันมีประมาณ ๙ ไร่ ๗๒ ตารางวา  โดยมีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือยาว ๑๑๗ เมตร ติดถนนสาธารณะ

ทิศใต้ยาว ๑๐๕ เมตร ติดถนนสาธารณะ

ทิศตะวันออกยาว ๑๓๕ เมตร ติดถนนสาธารณะ

ทิศตะวันตกยาว ๑๔๔ เมตร ติดถนนสาธารณะ

 

ลำดับเจ้าอาวาส 

•  หลวงพ่อนู

•  พระอาจารย์บุญธรรม

•  หลวงพ่อบุญไทย

•  หลวงพ่อซอน

•  พระอธิการศักดิ์ศิลป์

•  พระอธิการสกนธ์

•  พระอธิการบุญเรือง ฐิตสํวโร

•  พระมหาวรรณศักดิ์

•  พระมหามุนีพงษ์ ปภากโร พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๔๓

•  พระครูสังวรธรรมวงศ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๕๐

•  พระมหานิพล พลวฑฺฒโน พ.ศ. ๒๕๕๐ – ปัจจุบัน

ถาวรวัตถุที่สำคัญภายในวัด
1. ศาลาการเปรียญ – พระอุโบสถ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๕๓๕ ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม และเป็นที่ทำวัตรสวดมนต์ เช้า – เย็น ของพระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา
2. พระรัตนเจดีย์ ศรีคอนสววรค์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ แล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยหลวงปู่สุภา กันตสีโล เพื่อสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อบูชาพระคุณของพระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า) ภายในแบ่งเป็น 2 ชั้น
– ชั้นล่างเป็นห้องโถง ตรงกลางมีแผนหินอ่อนขนาดใหญ่สลักเป็นพระธรรมจักร ประดิษฐานอยู่ตรงกับจุดศูนย์กลางของเจดีย์(สะดือเจดีย์)
– ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และรูปหล่อเท่าองค์จริงของพระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า) และรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่สุภา
3.ศาลาประชาคม(ศาลากลางน้ำ)ภายในมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติใช้สำหรับอบรมกรรมฐานเป็นหมู่คณะใหญ่เพราะเนื้อที่กว้างขวางบรรจุคนได้เป็นหลายร้อยคน ภายนอกเป็นสระน้ำมีปลาอาศัยเป็นจำนวนมาก สามารถให้อาหารปลาได้โดยมีอาหารและตู้สำหรับบริจาคค่าอาหารไว้
4. กุฏิหอระฆัง เป็นกุฏิอเนกประสงค์ ด้านล่างเป็นกุฏิ ด้านบนเป็นหอระฆัง
5. หอพระไตรปิฏก ใช้สำหรับเก็บตำราต่างๆที่หลวงปู่รวบรวมไว้รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนา และพระไตรปิฏก
6. เจดีย์รวมญาติใช้สำหรับบรรจุอัฐิของผู้คนในหมู่บ้านค้อเขียวทั้งหมดให้อยู่รวมกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในวัดและเพื่อแสดงถึงความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน
7. วิหารหลวงปู่ใหญ่หลวงปู่ใหญ่เป็นอดีตพระเถระที่เคยอยู่ที่วัดนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณมีความศักดิ์สิทธิ์และคอยคุ้มครองดูแลวัดและคนในหมู่บ้านเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนชาวบ้านมักจะมาบนบานศาลกล่าวกับท่านอยู่เสมอ
8. หอประดิษฐานพระอุปคุตพระองค์นี้เป็นชุดเดียวกับที่ประดิษฐานอยู่ที่ภูเก็ตเพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่วิปริตที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้โดยท่านได้นำขึ้นมาเพื่อคุ้มครองทางภาคอีสานด้วย
9. เจดีย์เล็กบรรจุโบราณวัตถุต่างๆที่ท่านได้นำกลับมาจากสถานที่ๆท่านได้ไปธุดงค์ผ่านมาเช่นหอกดาบจากประเทศเนปาลและจีนเครื่องอัฐบริขารธุดงค์รวมทั้งพระเครื่องต่างๆอีกมากมายซึ่งท่านได้สั่งเอาไว้ว่าในอนาคตหากวัดเสื่อมโทรมลงและต้องการปัจจัยที่จะบูรณะก็ให้เปิดกรุนำพระเครื่องต่างๆเหล่านั้นออกมา
10. สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ อยู่บริเวณด้านข้างวัดซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการซึ่งคาดว่าจะเรียบร้อยภายในเร็วๆนี้
ถาวรวัตถุทุกรายการล้วนแล้วแต่เป็นที่หลวงปู่สุภาเป็นผู้อุปถัมป์ในการสร้างและบูรณะทั้งสิ้น